#การปลูกพืชกระท่อมตามแนวทางการทำสวนยางยั่งยืน
#พันธุ์พืชกระท่อม
กระท่อมเป็นพืชยืนต้น บางต้นอายุเป็น 100 ปี พันธุ์พืชกระท่อม มีก้านเขียว และก้านแดง ก้านเขียวใบจะเล็กกว่า นิยมใช้เคี้ยวหรือหวนท่อมในวิถีชุมชนภาคใต้ รสชาดไม่ขมมากเคี้ยวมัน เป็นที่นิยมของคอท่อม ดังคำที่ว่า “ก้านแดงนั่งแหลงคนเดียว ก้านเขียวคนเดียวก็แหลง” ส่วนก้านแดงนิยมเอาไปต้มเป็นน้ำกระท่อม เพราะเมากว่า หรือมีสารไมตร้าใจนีนมากกว่านั่นเอง ดังนั้นในเชิงอุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมคาดว่าจะใช้ก้านแดง
#การขยายพันธ์ุ
เพาะด้วยเมล็ดหรือชำถุงเป็นกิ่งพันธุ์ การเพาะด้วยเมล็ดจะทำให้ระบบรากแข็งแรงกว่า ใช้เวลา 3-4 เดือนจะได้ต้นสูงเกือบฟุต บางคนใช้วิธีเพาะต้นพันธ์ุด้วยกระท่อมขี้หมู ซึ่งเป็นกระท่อมป่ากินไม่ได้แต่ระบบรากแข็งแรง จากนั้นก็เอาก้านเขียวหรือก้านแดงมาเสียบยอด
#วิธีการปลูก
ด้วยเหตุที่พืชกระท่อมในอดีตเป็นยาเสพติด จึงยังไม่มีคำแนะนำระยะการปลูกจากนักวิชาการอย่างชัดเจน แต่ถ้าถามชาวบ้านเขาบอกว่าปลูกระยะ 4×4 =100 ต้นต่อไร่ได้ ถ้าปลูกแซมในสวนยางก็ปลูกระหว่างร่องยางแบบสลับหันปลา ระยะการปลูก 3×7 =76 ต้นต่อไร่ หรือ 6×7=38 ต้นต่อไร่ ก็จะไม่แน่นจนเกินไป
#ระบบดินและน้ำ
ดินที่ใช้ปลูกพืชกระท่อมจะต้องไม่เป็นดินที่แข็งแบบดินลูกรัง พืชกระท่อมชอบดินร่วนซุย และพืชกระท่อมชอบน้ำ ต้องมีระบบน้ำอย่างทั่วถึง ชาวบ้านนิยมใช้ปุ๋ยคอก
#โรคและการควบคุมดูแล
พืชกระท่อมที่ปลูกในที่ฝนตกชุก เช่น จังหวัดระนอง จะเกิดโรคเชื้อราจุดดำ ชาวบ้านใช้วิธีเอาน้ำปูนขาวละลายรดหรือฉีด แต่พอมีแสงแดดเต็มที่โรคนี้ก็หายไปเอง
#การเก็บเกี่ยว
พืชกระท่อมเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไปเฉพาะใบแก่ แต่ถ้าจะให้ผลผลิตเต็มที่ควรมีอายุ 5 ปี เก็บเกี่ยวใบได้ต้นละ 1 กิโลกรัม เก็บเกี่ยวทุก 15 วัน
#ราคาใบกระท่อม
ในช่วงที่พืชกระท่อมยังเป็นยาเสพติดให้โทษ ราคากิโลกรัมละ 600-800 บาท แต่เมื่อเสรีคาดว่าราคาใบกระท่อม 200-300 บาท ปลูก 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 100 กิโลกรัม ต่อ 15 วัน ถ้า 1 เดือนได้ 200 กิโลกรัม จะมีรายได้จากการขายใบกระท่อมเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เดือนละ 40,000-60,000 บาท
#แนวโน้มการตลาด
1.โรงงานอุตสาหกรรมทำน้ำกระท่อมกระป๋อง ตู้น้ำกระท่อม
2.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาโรค เช่น เบาหวาน ความดัน
3.สารไมตร้าใจนีน คาดว่าจะมีนวัตกรรมสกัดให้เข้มข้นเพื่อมาทดแทนการนำเข้ามอร์ฟีนปีละหลายหมื่นล้าน
3.ผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศที่ใช้พืชกระท่อมในปัจจุบัน เช่น อเมริกา
#หากนำพืชกระท่อมมาเป็นพืชร่วมยางตามแนวคิดสวนยางยั่งยืน
1.ถ้าการปลูกยางเชิงเดี่ยวในระยะ 3×7 เมตร แนะนำให้ปลูกพืชกระท่อม ระยะ 6×7=38 ต้นต่อไร่ จะมีรายได้จากพืชกระท่อม 15,200-22,800 บาทต่อเดือน
2.ถ้าตามแนวคิดสวนยางยั่งยืน ระยะการปลูกยาง 4×9=44 ต้นต่อไร่ ระยะการปลูกพืชกระท่อมก็ 4×9=44 ต้นต่อไร่ จะมีรายได้จากพืชกระท่อม 17,600-26,400 บาท
#สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เตรียมผลักดันให้พืชกระท่อม เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่เป็นพืชร่วมยาง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
#ด้วยวิธีการ
1.ให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกแทนตามระเบียบการยางแห่งประเทศไทย แบบที่ 3 คือ เกษตรกรรมยั่งยืน หรือการปลูกยางแบบผสมผสาน มีต้นยางเพียง 40-50 ต้น ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางได้รับงบประมาณสนับสนุนไร่ละ 16,000 บาท จากการยางแห่งประเทศไทย
2.ให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนการปลูกแทนแบบที่ 3 เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางเปลี่ยนจากการปลูกยางเชิงเดี่ยวมาทำสวนยางยั่งยืนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างแรงจูงใจ โดยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการปลูกแทนเพิ่มเติมอีกไร่ละ 10,000 บาท เพื่อปรับปรุงระบบดิน น้ำ ไฟฟ้า และอื่นๆ
สุนทร รักษ์รงค์
เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
22 สิงหาคม 2564
Reviews
There are no reviews yet.