1. ความสันโดษในบั้นปลายชีวิต จำนวนคนรอบตัวเรา จะลดลงตลอดเวลา
– คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่ย่าตายายส่วนใหญ่หนีหายกันไปหมดแล้ว
– คนที่อยู่ในวัยเดียวกับเราก็จะเริ่มประสบปัญหาในการดูแลตนเอง
– คนรุ่นหลัง รุ่นลูกหลานก็กำลังง่วนกับชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ของพวกเขา
– คู่ชีวิตของเราเอง ก็อาจจะจากไปก่อนแล้ว เร็วกว่าที่เราคาดไว้
ดังนั้น เราอาจถูกทิ้งไว้อยู่กับวันเวลาที่ว่างเปล่าคนเดียวก็เป็นได้ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวให้ได้ และยอมรับกับความสันโดษในบั้นปลายของชีวิตที่จะต้องเกิดขึ้น
2. สังคม จะเริ่มให้ความสำคัญกับเราน้อยลงไปเรื่อยๆ
– ไม่ว่าในอดีตเราจะเคยยิ่งใหญ่หรือมีชื่อเสียงมากขนาดไหนก็ตาม
– ความชราจะเปลี่ยนเราให้กลายเป็นเพียงชายแก่ ๆ หรือหญิงแก่ ๆ ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น
– สปอตไลท์จะหยุดฉายมาที่เรา และเราจะต้องหัดพอใจกับการยืนอยู่ในมุมห้องหรือเงามืดอย่างเงียบๆ เพียงคนเดียว
– เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับและยินดีกับภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า โดยปราศจากการอิจฉาริษยาหรือคับแค้นใจใดๆ ทั้งสิ้น
3. ถนนสายเส้นทางชีวิตที่เหลืออยู่จะเต็มไปด้วยอันตรายต่างๆ คือ โรคภัยไข้เจ็บ ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่นเส้นเลือดตีบตัน หรือแตกหัก สมองฝ่อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไธรอยด์เป็นพิษ อารมณ์แปรปรวน การหลงลืมหรือมะเร็ง เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเจ็บป่วย หรือยอมรับมันและดำเนินชีวิตด้วยกุศโลบาย คือ
• มีจิตใจและความคิดเป็นบวก
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินวันละ 30-45 นาที เป็นประจำ
• ควบคุมการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
• พักผ่อนให้เพียงพอ
4. เตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตติดเตียง เราจะถูกดูแลโดยคนอื่นเหมือนเมื่อแรกเกิดแต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ครั้งนั้นเราเคยมีแม่เป็นผู้ดูแล ด้วยความรักอย่างสุดหัวใจแต่เมื่อใกล้วันที่เราจะจากโลกนี้ไป เราไม่มีแม่เหลืออยู่แล้ว แต่อาจมีญาติที่ใกล้ชิดมาดูแล หรือ อาจมีพยาบาลมาดูแล แต่ต้องยอมรับว่า มันไม่เหมือนกับการดูแลของ แม่ที่ดูแลเราในวัยนอนแบเบาะแน่นอน ดังนั้น จงฝึกอยู่นิ่งๆ อย่าจู้จี้ขี้บ่น อย่าทำตัวให้เป็นที่ลำบากของคนอื่น จงรู้สึกพอใจในสิ่งที่เราได้รับได้เป็น
5. ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ที่มี หลีกเลี่ยงการนำไปลงทุน หรือ ให้ใครหยิบยืมเด็ดขาด เพราะ เราหมดเวลาแสวงหาเงินทองทรัพย์สมบัติใดๆ แล้ว
ดังนั้น ผู้สูงวัยทุกคนจงมองชีวิตตามความเป็นจริงของมัน
• พอใจในสิ่งที่ได้รับ และยินดีกับสิ่งที่มีอยู่
• ใช้ชีวิตให้สนุกขณะที่ยังทำได้
• อย่าเอาเรื่องยุ่งเหยิงของสังคม เช่น เรื่องการเมือง หรือ แม้แต่เรื่องของลูก ๆ หรือหลาน ๆ มาเป็นปัญหาของตนเอง
• จงใช้ชีวิตอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวและเรียบง่าย
• อย่าแสดงตัวว่า เก่งเพราะคิดว่า มีประสบการณ์สูงและผ่าน อะไร ๆ มามาก
• เมื่ออายุยิ่งมาก เรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับการอ่อนน้อมและเคารพให้เกียรติผู้อื่น
ชีวิตคนเรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ควรปล่อยวาง จงใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบ สุขุม พอเพียงกับการเป็นผู้สูงวัย